ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ส.ค. 2559 ผลการออกเสียงลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในขณะที่ ประเทศถูกควบคุมอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ส่วนใหญ่ได้ “เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่ระบุว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
[คำถามพ่วงสอดไส้ประชามติ! ทำประชาชนสับสน ที่มา สว.โหวตนายก]
ซึ่งคำถามนี้เป็นประเด็นที่ถูกเพิ่มเติมโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงคำถามนี้มากนัก และคำถามนี้ถูก นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองต่างๆ ทักท้วงว่า ยาวเกินไป และมีลักษณะเป็นคำถามนำ เพื่อนำไปสู่คำตอบในทิศทางที่ต้องการ และมีคำยากที่อาจทำให้เกิดความสับสนในการตีความของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน
[ประชามติ บนบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย]
ขณะที่ การรณรงค์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่สามารถแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นในการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ เช่นการไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและแบบฟอร์มการขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จนมีประชาชนกลุ่มหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุม
ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตั้งข้อหา ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 และข้อหาตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ศาลทหารสั่งให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ผู้ต้องหา 6 คน ขอประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 50,000 บาท ผู้ต้องหาอีก 7 คนไม่ประสงค์จะประกันตัวจึงถูกส่งไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศในปี 2559 จนมีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.ประชามติ และถูกดำเนินคดีภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. และกฎหมายอื่นๆ ถึง 212 คน ตามผลสำรวจของ iLaw
การออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติในวันนั้นมีประมาณ 58 เปอร์เซนต์ ต่ำกว่าเป้าที่ กกต. ตั้งไว้ที่ 80 เปอร์เซนต์ ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกว่า 50 ล้านคน โดยคาดว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ตื่นตัวกับการลงประชามติมากเท่ากับการเลือกตั้ง และถูกควบคุม การแสดงความคิดเห็นโดย คสช. ซึ่ง ยึดอำนาจการปกครองประเทศอยู่ในเวลานั้น จนท้ายที่สุดนำมาสู่กระบวนการ ที่ สว. มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ทำลายหลักการประชาธิปไตย และทำลายเจตจำนงของพี่น้องประชาชน ในการเลือก ผู้แทนราษฎร เพื่อมาเลือกนายกรัฐมนตรีจนถึงทุกวันนี้
.
[จุดยืนพรรคไทยสร้างไทยเพื่อทวงคืนประชาธิปไตยเต็มใบและนิติธรรม]
เนื่องในวันรพี
พรรคไทยสร้างไทยขอน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย พร้อมทั้งขอเดินหน้าเพื่อสร้างนิติธรรมในประเทศไทย
เรายืนยันทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนคือการโหวตยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ เพื่อลบล้างผลพวงจาก คสช. และการลงประชามติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
นอกจากนี้เรายังสนับสนุนให้ทุกพรรคการเมืองทำตามสัญญาที่เคยกล่าวไว้ในการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาชาติบ้านเมืองขณะนี้ให้กลับคืนไปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยพรรคไทยสร้างไทยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. คืนอำนาจให้ประชาชนยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่แก้ไขหมวด 1 และ 2
ในช่วงที่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่แล้วเสร็จ และรัฐสภารอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ รอบสองขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 หรือไม่ พรรคไทยสร้างไทยยังมีความปรารถนาที่จะให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคการเมืองอีกครั้ง เพื่อให้เกิดรัฐบาลประชาชน และไม่เป็นนั่งร้านให้เผด็จการยังคงสืบทอดอำนาจ แต่บ้านเมืองต้องการการวางรากฐานประชาธิปไตยที่แข็งแรง มีนิติรัฐ นิติธรรมเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและคืนโอกาสกว่า 9 ปีที่สูญหายไปจากระบอบเผด็จการ