นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยเปืดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 7 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันอาหารปลอดภัยโลก”
.
ในวันดังกล่าว Thai – PAN,มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวัง # อาหารปลอดภัย ได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “นับหนึ่งสร้างระบบและกลไกอาหารปลอดภัยประเทศไทย”
.
ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฏร (แบน 3 สารพิษ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต) ในการเสวนา Thai – PAN ได้รายงานผลลัพธ์ภายหลังจากการแบน 3 สารพิษ ในปี 2562 – 2567 ผ่านมาเป็นเวลา 5 ปี
พบว่า พาราควอต ในผัก ผลไม้ เป็น 0% อัตราป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลง 2.6 เท่า
.
นอกจากนั้น ในพื้นที่ชนบท เกษตรกรจำนวนมากกล่าวว่า กบ เขียด กุ้ง หอย ปู ปลา เริ่มกลับมาตามธรรมชาติตามลำดับ
นับว่า ผลงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เป็นฐานตั้งต้นที่ภาคประชาสังคมจะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเฝ้าระวัง # อาหารปลอดภัย ไปดำเนินการทั้งเชิงรับ เชิงรุกเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนคนไทยต่อไป จากนั้นผมได้ให้ความเห็นต่อวงเสวนาใน 3 ประเด็น ดังนี้
.
1. ขอบคุณ ชื่นชม และให้กำลังใจ Thai – PAN มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ตลอดจนภาคีเครือข่าย ที่มีอุดมการณ์ มีพันธกิจสำคัญในการเฝ้าระวัง #อาหารปลอดภัย มากว่า 10 ปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และมุ่งมั่นที่จะทำภารกิจที่สำคัญนี้เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนคนไทยต่อไป
.
2. ปัจจัยความสำเร็จของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาที่อาจนำมาปรับใช้ในงานเฝ้าระวัง #อาหารปลอดภัย ต่อไป คือ
.
2.1 ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ “ความจริง” ถึงพิษภัยของสารเคมีที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้ ให้ประชาชนผู้บริโภคตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีอย่างกว้างขวาง เป็นระบบ โดยยกตัวอย่างการลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ที่มีเกษตรกรขาขาด และเป็นแผลพุพอง จากการใช้สารเคมีร้ายแรงมาต้อนรับคณะกรรมาธิการ ฯ จำนวนมาก พร้อมบอกว่าตนเองและลูกหลานจะไม่ใช้สารเคมีร้ายแรงอีกแล้ว
.
นอกจากนั้น การสุ่มตรวจผัก ผลไม้ ทั้งแหล่งผลิตในประเทศ และจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนสุ่มตรวจตามตลาดทั้ง 4 ภาค และห้างโมเดิร์นเทรด แล้วประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้บริโภคทราบเป็นระยะ
.
2.2 องค์กรและบุคลากรที่ทำงานเฝ้าระวัง #อาหารปลอดภัย ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องอดทนต่อแรงเสียดทานจากกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่จากภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยยึดผลประโยชน์ของชาติ คือ สุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนเป็นที่ตั้ง
.
3. สำหรับ “การสร้างระบบ กลไก #อาหารปลอดภัย” ผมได้ให้ความเห็นว่า มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
.
3.1 ระบบราชการ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ #อาหารปลอดภัย ใช้บังคับ กำกับ ดูแลอยู่ แต่ระบบราชการที่มีภารกิจเกี่ยวกับ #อาหารปลอดภัย มีหลายกระทรวงไม่เป็นเอกภาพ และไม่บูรณาการกัน แม้แต่ในกระทรวงเดียวกัน ก็ยังมีปัญหาในการประสานงานระหว่างกัน
.
งาน #อาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นงานสำคัญของชาติควรได้รับการยกระดับให้มีเอกภาพเพื่อความมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน นอกจากนี้ ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ อนามัยประชาชน ควรเอา “ปัญหา” เป็นตัวตั้ง
.
ผมได้ยกตัวอย่างสำคัญในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ผ่านมาเมื่อถึงวาระพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข มี
ปลัดกระทรวง อธิบดี เลขาธิการ ครบทุกกรม ผมได้ฝากการบ้านไปว่าโรคที่คร่าชีวิตคนไทยตายอันดับ 1 มาหลายสิบปี คือ โรคมะเร็ง และยังไม่มีหนทางที่จะลดอัตราการตายลงได้ มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ไปงานศพที่ไหนส่วนใหญ่
ก็ “มะเร็ง ๆๆๆ”
.
แม้สาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งจะมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็ง คือ อาหารที่เรารับประทานกันทุกวัน ได้แก่ ผัก ผลไม้ ที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
.
อาหารดังกล่าวเมื่อรับประทานเข้าไป ไม่ได้ทำให้เจ็บป่วยในทันที หรือชักดิ้น ชักงอต่อหน้า ต่อตา เราจึงเคยชิน ประมาท คิดว่าไม่มีอะไร แต่เมื่อพิษของสารเคมี หรือยาปฏิชีวนะที่เกินค่ามาตรฐานสะสมในร่างกายมากเข้า ๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี 5 ปี 10 ปี 20 ปี และก็เป็นสาเหตุของโรคร้ายหลายโรคในที่สุด เมื่อทราบสาเหตุของปัญหา เราต้องหาทางป้องกันแต่ต้นเหตุ
.
นอกจากนั้น ผมได้ยกตัวอย่างกรณี เลขาธิการ อย.ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ไทยนำเข้าผัก ผลไม้จากต่างประเทศปีละนับล้านตัน จากการสุ่มตัวอย่างผัก ผลไม้ ที่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ต้องส่งมาตรวจที่ส่วนกลาง คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งไม่ทันการณ์ ผัก ผลไม้ เน่า เสียหายง่าย ก็ต้องปล่อยผัก ผลไม้ดังกล่าวเข้ามาให้คนไทยบริโภค
.
เรื่องนี้ หากรัฐมีนโยบายในการนำเข้าผัก ผลไม้ จากต่างประเทศ ก็ควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในการสุ่มตรวจสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานอย่างเข้มแข็งโดยมีห้องแล็บ หรือแล็บเคลื่อนที่ ณ หน้างาน หรือหากเห็นว่าประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร สามารถปลูกผักให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในได้ ก็ต้องมีนโยบายในการดูแลเกษตรกรด้านการตลาด ป้องกันต่างประเทศขายตัดราคา
.
ผมได้เสนอแนะต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า
เราเสียงบประมาณกับ”การรักษา” มามากมายมหาศาล ทั้งคนเจ็บป่วย ครอบครัว และรัฐที่ต้องสร้างหมอ สร้างและขยายโรงพยาบาล ดังนั้น เรามาเจียดงบประมาณมา “ป้องกัน” อย่างมีนัยสำคัญในการมีห้องแล็บ
ณ หน้างานด่านสำคัญ ๆและบริหารจัดการภายในกระทรวง เช่น ระหว่าง อย.กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนระหว่างกระทรวง เช่น สาธารณสุข เกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันอาหาร มกอช. ฯลฯ เป็นงานนโยบายที่รัฐควรบูรณาการให้มีเอกภาพ
.
ขณะนี้ใกล้จะพิจารณางบประมาณปี 2568 จะได้ติดตามว่ามีการให้ความสำคัญจัดสรรงบประมาณ # อาหารปลอดภัยมากน้อย เพียงใด และมีการประสานงานระหว่างองค์กรเพื่อให้งานดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร
.
3.2 ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายผู้บริโภค นับเป็นองค์กรสำคัญยิ่งในการเฝ้าระวัง # อาหารปลอดภัย ควรมีเครือข่ายลงลึกไปยังหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมทั้งท้องถิ่น เป็นหู เป็นตา เฝ้าระวัง # อาหารปลอดภัย งานก็จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
.
ข้อเสนอของผมโดยสรุปต่อการสร้างระบบและกลไก # อาหารปลอดภัยก็คือ ให้ความสำคัญกับการมีองค์กรเฝ้าระวัง #อาหารปลอดภัย อย่างเป็นระบบ ด้วยการปรับปรุงระบบราชการให้มีเอกภาพ บูรณาการกันทั้งในระหว่างกระทรวง และกระทรวงเดียวกันโดยยึดประโยชน์ประชาชนผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง
.
ที่สำคัญ ภาครัฐจะต้องทำงานเชื่อมประสานกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่าย ผู้บริโภค # อาหารปลอดภัย ลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อให้การเฝ้าระวัง #อาหารปลอดภัย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
.
ข้อสรุปสุดท้ายของวงเสวนาเห็นว่า รัฐบาลควรจะทำนโยบาย “ครัวของโลก” ให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายให้ได้รับการยอมรับจากสากลว่า อาหารของเราปลอดภัยโดย ผัก ผลไม้ ของเราไม่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน เนื้อสัตว์ของเราไม่มียาปฏิชีวนะตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
.
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมาตรฐานของประเทศในยุโรป อเมริกาและประเทศที่เจริญแล้ว มีสารเคมีปนเปื้อนในผัก ผลไม้ ไม่เกิน 5% แต่ประเทศไทยจากการสุ่มตรวจของ Thai – PAN ปนเปื้อนเกิน 60% และราชการโดย อย. ปนเปื้อนไม่เกิน 25% นับว่ามาตรฐานความปลอดภัยของไทยด้งกล่าวยังห่างไกลกับสากลมาก อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับการเจ็บป่วยรุนแรง ขาดความใส่ใจต่อการสะสมพิษร้ายของสารเคมีในร่างกาย ดังนั้น จากนี้ไป รัฐบาลควรเอาจริงเอาจังกับปัญหาดังกล่าว โดยเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายหลายโรคจากการรับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัย
.
ประการสำคัญ ในภาวะโลกร้อนขึ้นทุกปี ๆ เช่นนี้ หากเราพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้างมาตรฐานยกระดับ # อาหารปลอดภัยให้สัดส่วนสารเคมีปนเปื้อนในผักผลไม้ใกล้เคียงกับประเทศที่เจริญแล้ว ก็จะทำให้นโยบาย
ประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก” ได้รับการยอมรับจากสากล นักท่องเที่ยวก็จะเข้ามาชิมอาหารไทยมากขึ้น ๆ
ตามมาอย่างแน่นอน
.
ที่สำคัญ สุขภาพอนามัยของคนไทยก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว