[อดีตรองประธาน กมธ.กฎหมาย แนะ คุยนอกรอบทุกสีเสื้อ สร้างปรองดอง]
.
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยสร้างไทย อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลมีแนวคิดจะตั้ง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง กฎหมายนิรโทษกรรมก่อน นั้น
.
จากประสบการณ์การจัดทำรายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของประชาชนในชาติของสภาฯ ชุดที่ผ่านมา หากดำเนินการในรูปแบบ ที่ใช้การพิจารณาในคณะกรรมาธิการฯเป็นหลัก แทบจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่เมื่อมีการพูดคุยปรึกษาหารือกันนอกรอบทีละกลุ่มๆ จนทราบข้อมูลเชิงลึกของแต่ละกลุ่ม แต่ละสี แต่ละฝ่ายแล้วจัดประชุมร่วมกันจนตกผลึกทางความคิด งานจึงจะเป็นผลสำเร็จซึ่งคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ผ่านมา ได้ใช้ความเพียรพยายามพูดคุยนอกรอบกับกลุ่มคู่ขัดแย้งในอดีตมาจับมือกัน สร้างความปรองดอง สมานฉันท์ จนตกผลึกทางความคิด
.
[ย้ำ ข้อเสนอสภาชุดที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบเอกฉันท์ คือ นิรโทษกรรมคดีการเมือง ยกเว้น ม.112 และคดีทุจริต]
.
รายงานของคณะกรรมาธิการฯ
ก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อ 19 สิงหาคม 2563 เพียงแต่รัฐบาลที่ผ่านมาเก็บรายงานดังกล่าวเข้าลิ้นชัก ซึ่งมีข้อสรุปของรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
.
- นิรโทษกรรมคดีการเมือง คดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง
- ยกเว้นไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตาม ม.112 และคดีทุจริต
.
ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาคดีต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยมีข้อสังเกตว่า ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ดังกล่าวนั้น ได้ยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้กับกรณีความผิดตาม ม.112 ซึ่ง “ทุกพรรคการเมือง” ในขณะนั้น ล้วนให้ความเห็นชอบ
.
[ชี้ ทุกพรรคการเมืองล้วนให้ความเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว]
.
ปัจจุบัน “พรรคการเมืองหลัก ๆ” ดังกล่าว ก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในสภาฯ แห่งนี้ ดังนั้น การคุยกันนอกรอบในทุกประเด็น น่าจะหาทางออกให้ประเทศของเราออกจากความขัดแย้งได้ สำหรับคดีความผิดตาม ม.112 นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ทั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์และยุคโลภาภิวัฒน์ที่ต้องพัฒนาไปกับกาลสมัย
.
ปัจจุบันโดยความเห็นส่วนตัวของตน ถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือผู้ที่ต้องโทษ ได้สำนึกในการกระทำของตนว่าเป็นการล่วงละเมิด จะโดยตั้งใจ หรือมิได้ตั้งใจก็ตาม โดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เวลาในการสู้คดีความทำลายหน้าที่การงานของตนและครอบครัว ก็อาจขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็เป็นพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ที่สำคัญควรมีเงื่อนไขไม่กระทำความผิดซ้ำ
.
[ยกเมตตาและอภัย จะพาประเทศออกจากความขัดแย้งที่มีมายาวนาน]
.
นอกจากนี้ อาจมีกรณีที่ต้องพิจารณาว่า บางรายอาจถูกกลั่นแกล้งบ้าง ไม่เจตนาบ้าง เห็นว่าเป็นกรณีปลีกย่อยที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ประเด็นหลัก คือ ผู้ที่ตั้งใจละเมิด หากสำนึกผิด และต้องการพ้นจากปัญหานานัปการในการต่อสู้คดี ก็ควรขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็เป็นพระราชอำนาจที่จะทรงพิจารณา ซึ่งสุดท้าย ตนมั่นใจว่า คุณธรรม “เมตตา และอภัย” จะทำให้คนไทยออกจากความขัดแย้งที่มีมากือบ 20 ปี ไปสู่สังคมที่สงบสุข ร่วมมือกันพัฒนาชาติบ้านเมืองส่งต่อให้รุ่นลูก รุ่นหลานสืบไป