ชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย” ชี้ รัฐจัดงบลงทุนระบบชลประทาน ไปกับการกักเก็บน้ำ ทั้งสร้างเขื่อน ขุดอ่าง ลอกคลอง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำต้นทุน รวมถึงการเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร นอกเขตชลประทานกว่า 117 ล้านไร่ อาจไม่ได้รับการแก้ไข
.
โดยชี้ให้เห็นถึงงบบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรไทย ว่าเกษตรกรไทยมีปัญหามาก ทั้งราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาการผูกขาดจากทุนใหญ่ และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือการขาดแคลน “น้ำ” ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล
.
‘การเพิ่มแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ปัญหาที่อาจไม่ได้รับการแก้ไข”
ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่ เป็นพื้นที่อยู่ในเขตชลประทาน เพียง 33 ล้านไร่ อีก 117 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานได้รับการจัดสรร ทั้งสิ้น 81,000 ล้านบาท เป็นงบรายจ่ายประจำ 6,500 ล้านบาท งบลงทุนและงบอื่นๆ 74,000 ล้านบาทหรือ 91% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และมีข้อสังเกตว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน จะต้องใช้เวลานานเท่าใด เพราะเมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดและงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรพบว่า สามารถเพิ่ม พื้นที่ชลประทานนอกเขตได้เพียง 170,000ไร่ หรือ 0.14%เท่านั้น
.
“งบลงทุนที่ เน้นการสร้างเขื่อน ขุดอ่าง ลอกคลอง”
สำหรับงบลงทุน 74,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณ ที่ใช้ไปกับการเพิ่มศักยภาพระบบกักเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำ เช่น สร้างเขื่อน ขุดอ่าง ลอกคลองต่าง ๆ แต่ปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุนที่จะเติม เขื่อน อ่าง คลองเหล่านี้ เพราะเมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำต้นทุนในระบบมีน้อยจนแทบไม่เหลือ ยกตัวอย่าง ในภาคอีสาน มีแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ทำหน้าที่กักเก็บน้ำและส่งน้ำผ่านลำน้ำสาขาต่าง ๆ กระจายทั่วทั้งภาคอีสาน แต่ในฤดูแล้ง แหล่งน้ำต้นทุนของแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี มักจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุน
.
“จี้ รัฐ เร่งสรุปข้อดีผลดีผลเสีย โครงการ โขง เลยชี มูล”
ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งสรุป ผลดี ผลเสีย โครงการ โขง เลย ชี มูล ซึ่งตั้งงบศึกษากว่า 365 ล้านบาท หากเกิดขึ้นจริงโดยไม่มีผลกระทบ ก็จะทำให้ สามารถเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนได้ โดยแม่น้ำโขงจะไหลผ่านแม่น้ำชี มาถึงทุ่งกุลาร้อยเอ็ด ขณะที่ตอนเหนือของทุ่งกุลามีลำน้ำเสียวใหญ่ มีหนองบ่อ ในพื้นที่อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นอ่างเก็บน้ำต้นทุนมีความจุน้ำเพียง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าผันน้ำต่อจากแม่น้ำชีเข้าหนองบ่อ แล้วปล่อยสู่ลำเสียวใหญ่ ที่มีความยาว 245 กม. ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4 จังหวัด 16 อำเภอ ปล่อยลงสู่ทุ่งกลาร้องไห้ 2 ล้านไร่ พี่น้องทุ่งกุลา จากร้องไห้ จะยิ้มสดใสขึ้นทันที
.
“งบดูแลแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานมีอยู่อย่างจำกัด”
ส่วน กรมทรัพยากรน้ำ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลแหล่งน้ำ นอกเขตชลประทาน 117 ล้านไร่และพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งน้ำชุมชน กว่า 30,000 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น ห้วย หนอง คลอง บึง ที่กระจายตัวอยู่นอกเขตชลประทาน แต่เมื่อตนตรวจสอบจากเอกสารงบประมาณ พบว่าได้รับจัดสรรงบประมาณ 7,200 ล้านบาทเป็นงบรายจ่ายประจำ 1,000 ล้านบาท และงบลงทุน 6,200 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่จำกัดเช่นนี้ ตนไม่มั่นใจว่าจะดูแลแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานได้หรือไม่
.
“จี้นายก ติดปีกท้องถิ่นดูแลแหล่งน้ำชุมชน”
ในส่วนของ พื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำชุมชน กว่า 30,000 แห่ง ที่ตั้งในพื้นที่ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอยู่กว่า 7,000 แห่ง ยังขาดงบประมาณและอำนาจหน้าที่ ที่จะเข้าไปดูแล จึงขอสื่อสารไปถึงนายกรัฐมนตรี ให้ใช้อำนาจออกประกาศ ให้เพื่อหน่วยงานของรัฐโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้เข้าไปรับผิดชอบควบคุม บำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะแห่งใดก็ได้โดย กระจายอำนาจ หน้าที่ งบประมาณไปให้
.
ขณะเดียวกันตนขอ เรียกร้องให้ พรรคร่วมรัฐบาลกลับไปดูนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะ งบประมาณของกระทรวงเกษตรที่จะใช้ดูแลเกษตรกรถูกตัด สวนทางกับ นโยบายที่ได้หาเตียงไว้กับประชาชน โดยเฉพาะการดูแลพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมีงบประมาณไม่เพียงพอ ตนขออย่าให้นโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภาว่า ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาล เป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น