นายเจตุบัญชา อำรุงจิตชัย รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย เผยผลสำรวจของธุรกิจ SMEs ไทยกว่า 70% เริ่มไปไม่ไหวหลังผ่านวิกฤติโควิดมายังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ได้แค่ประคองธุรกิจไปวันๆหลายรายมีแผนฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง ( Turnaround Plan ) แต่ไร้เงินทุนสนับสนุนเนื่องจากใช้หลักทรัพย์ที่พอมีอยู่ไปกับการกู้ ในรอบโควิดที่ผ่านมาเพื่อประคองธุรกิจไปหมดแล้ว
ซึ่งภาครัฐไม่เข้าใจปัญหาว่าธุรกิจส่วนใหญ่ทำได้แค่ประคองในรอบที่ผ่านมาแต่ไม่อาจกลับมาแข็งแกร่งได้เนื่องจาก เข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ไม่ได้แล้วทำให้หมดสิทธิ์ในการฟื้นฟูธุรกิจต้องแข่งกับเวลาว่าจะผ่านได้อีกครั้งหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจยังไม่กลับมาผู้คนไม่จับจ่ายใช้สอยเหมือนก่อนโควิด ทำให้หลายรายไม่สามารถทำกำไรมาใช้หนี้ ที่เกิดจากดอกเบี้ยแบงค์ได้ตามกำหนด
ขณะนี้ธุรกิจหลายรายต้องเข้าแผนฟื้นฟูธุรกิจแบบเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายค่างวดธนาคารพร้อมดอกเบี้ยให้เหลือจากแค่จ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียวไปก่อนเพื่อเก็บกระแสเงินสดไว้ใช้ในธุรกิจเพราะหากธุรกิจล้มลงจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั้งระบบมากกว่านี้
การเจรจาต่อรองการจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่องวดลง ต้องเข้าแผนฟื้นฟูโครงสร้างธุรกิจกับธนาคารนั้นๆ ตามหลักทฤษฎีแล้วถือว่าไม่เป็น NPL แต่ในหลักการปฎิบัติจริงแทบไม่ต่างกัน เพราะถ้าเข้าแผนนี้แล้วการจะไปกู้เงินเพิ่มในอนาคตจะต้องไปติดเงื่อนไขฟื้นฟู ไม่มีธนาคารไหนอยากให้กู้เพิ่มต้องติดเงื่อนไข 1 ปี 3ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่รายแล้วแต่ธนาคาร สำหรับภาคธุรกิจแล้วถือว่าอันตรายอย่างยิ่งถ้าเข้าถึงแหล่งเงินไม่ได้อีกในอนาคต
หลังจากนี้ จะพยายามผลักดันให้กระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทยรีบผ่อนปรน ปรับเงื่อนไขว่าธุรกิจที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูเนื่องจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเช็คได้จากงบการเงินปี 20-23 ที่เพิ่งติดลบ แสดงว่าได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด จะต้องเข้าเงื่อนไขพิเศษ ไม่ติดล็อกทางเครดิต สามารถเข้าแผนฟื้นฟูได้ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนพิเศษได้จากรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูกิจการให้กลับมาได้อีกครั้ง
รวมถึงจะนำแผนทั้งหมดเสนอเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นอีกด้วยเพราะถ้าธุรกิจ SMEs ล้มลงมากกว่านี้จะกระทบวงกว้างในระบบเศรษฐกิจและยังเพิ่ม NPL ให้กับธนาคารอย่างมหาศาลอีกด้วย