ณิชชา บุญลือ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย แสดงความเห็นหลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลรักษาการ ย้อนถามว่า คนรวยต้องได้เบี้ยผู้งสูงอายุไหม? พล.อ.อนุพงษ์ได้เงินบำนาญเดือนละ 60,000 บาท หรือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ต้องได้รับเบี้ยผู้สูงอายุหรือไม่? กรณีระเบียบกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุเป็น “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”
ตามขั้นตอนแล้วการรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุต้องมีการยืนยันสิทธิ เป็นไปตามแนวคิดของหลักสวัสดิการถ้วนหน้าว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ถ้าใครที่มีรายได้มากและไม่มีความจำเป็นต้องรับเบี้ยผู้สูงอายุก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียนยืนยันเพื่อรับสิทธิ ลดภาระการคลังของรัฐ แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่แก้ไขใหม่ระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจะถอยหลังลงคลองไปเป็นระบบรัฐสงเคราะห์ที่ผู้สูงอายุต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจน ซึ่งจะยิ่งทำให้มีผู้สูงอายุตกหล่นไม่ได้รับสิทธิอีกจำนวนมาก เช่นเดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเงินอุดหนุนเด็กที่ทำให้มีครอบครัวที่ยากจนแต่เข้าไม่ถึงสิทธินี้กว่า 30% การแก้ไขระเบียบจึงไม่สอดคล้องกับการพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ตามหลักตามระเบียบฉบับเดิมเมื่อปี 2552 พล.อ.อนุพงษ์ เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว แต่แม้ว่าในระเบียบปี 2556 นี้จะไม่มีข้อความนี้บัญญัติอยู่ แต่ก็ต้องรู้ได้โดยจิตสำนึกว่าหากตัวเองมีบำนาญถึง 60,000 บาทก็ไม่ควรขึ้นทะเบียนยืนยันรับสิทธิ ซึ่งแน่นอนว่าคุณหญิงสุดารัตน์ไม่ได้ยืนยันเพื่อรับสิทธิเช่นกัน น.ส.ณัชชา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นวิธีคิดของสังคมที่พัฒนาแล้วที่ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน รัฐบาลจะไม่ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีไปตัดสิทธิประชาชน เพราะกลัวคนรวยจะไปขอรับสิทธิใช้งบประมาณของรัฐด้วย ทั้งที่พวกเขาก็เสียภาษีเช่นกันก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่ไปคิดแทนเขา สร้างกติกาให้รับสวัสดิการยุ่งยากจนคนอื่นที่ต้องการสิทธิตกสำรวจ
[ตัดงบฟุ่มเฟือย เช่น งบทหารฯ ไม่ใช่ตัดเบี้ยผู้สูงอายุ]
หากรัฐบาลหาเงินไม่เป็นจนรัฐขาดสภาพคล่อง แนะนำให้ไปตัดลดงบประมาณที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น เช่น งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่พุ่งสูงไปถึง 1.97 แสนล้านบาท ทั้งที่ภัยคุกคามของโลกยุคใหม่ คือ เรื่องสุขภาพและสังคมผู้สูงวัย ไม่ใช่การรบกันทางทหารเหมือนอดีต หรือเราสามารถไปตรวจสอบการใช้งบประมาณอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดซื้อไม้ล้างป่าช้า GT200 ที่ผลาญงบประเทศไปหลายสิบล้านบาท หรือการจัดซื้อเรือเหาะที่แทบไม่ได้ใช้งาน แต่ผลาญงบประมาณไปหลายร้อยล้านบาท
“น่าเสียดายที่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความเข้าใจเรื่องหลักสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี สถาปนาความเป็นรัฐสงเคราะห์ บังคับให้ประชาชนต้องพิสูจน์ความจน ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทั้งที่ทุกคนเป็นผู้เสียภาษีไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่ถ้ารัฐบาลถังแตก ก็แนะนำให้ตัดงบประมาณที่สิ้นเปลืองเช่นงบกองทัพ หรือป้องกันคอร์รัปชัน ไม่ใช่มาตัดงบผู้สูงอายุบนความเหลื่อมล้ำของประเทศขณะนี้”