คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ,ดร. สุวดี พันธ์ุพานิช ,นายเจตุบัญชา อำรุงจิตชัย ,นายสรเทพ โรจน์พจนารัช รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ,นางสาวศุภนาถลดา รัตนาธนัชภัค พร้อมคณะ เยี่ยมชมการดำเนินงานและรับฟังปัญหา ในโอกาสครบรอบ 12 ปี รพ.อบจ.ภูเก็ต โดยมี นายอัครวัฒน์ ศิริธัญญ์ธนากร ปลัด อบจ.ภูเก็ต และคณะให้การต้อนรับ
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวชื่นชม นายเรวัติ อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต ทีมงาน ข้าราชการท้องถิ่น และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนชาวภูเก็ต รองรับผู้ป่วยนอกถึงวันละ 600 ราย แบ่งเบาภาระ รพ. สังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้มาก
ความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับเอกชน เป็นแนวทางที่ดี ทั้งการรักษาด้วยจิตบริการ และการมุ่งส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคถึงบ้านประชาชน ในโครงการคลินิกหัวเช้า ที่ส่งหมอไปเยี่ยมช่วงเช้าในชุมชน และโครงการพยาบาลหัวค่ำ ที่ให้พยาบาลไปฟื้นฟูดูแลถึงบ้านหลังเวลางาน
ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มายังท้องถิ่น จะเป็นประตูด่านหน้าเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคได้ดีเยี่ยม ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งประสานความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการยืมตัวข้าราชการที่ไม่ประสงค์โอนย้ายให้มาช่วยงานในระยะหนึ่งก่อนระหว่างการถ่ายโอน
“ปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นไม่สัมพันธ์กับปริมาณบุคลากรทางการแพทย์ แม้จะเร่งผลิตแพทย์มากขึ้น ไทยสร้างไทยเสนอให้มุ่งเป้าสร้างสังคมอุดมสุขภาพ ให้ระบบสาธารณสุขยั่งยืน เน้นสร้างคนแข็งแรงก่อนป่วย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม
เช่น ไขมัน ความดัน เบาหวาน และอุบัติเหตุ ซึ่งจะทำให้ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ลดลง และลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาของรัฐด้วย ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้บริการ หมอมือถือ (Mobile Doctor) ได้ ก็ควรส่งเสริม เพื่อไม่ต้องเดินทางไป รพ. โดยผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีก็จะใช้เวลาในการรอคอยรักษาสั้นลง”
ดร.สุวดี พันธุ์พานิช กรรมการบริหาร บมจ.ธนบุรี เฮล์ทแคร์ กรุ๊ป และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.ธนบุรี เสริมรัฐ กล่าวว่า “ที่ผ่านมามีความร่วมมือระหว่าง รัฐและเอกชน เพื่อสาธารณสุข หลายรูปแบบ ใน รพ.สังกัดสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ รพ.ท้องถิ่น ซึ่งเป็นโมเดลการแก้ปัญหาความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทั้งเรื่อง งบประมาณ การพัฒนาบริการ และบุคลากร โดย รพ.อบจ.ภูเก็ต ไว้วางใจให้เอกชนร่วมให้การรักษาผู้ป่วยทุกโรคทุกสิทธิมากว่า 12 ปี รวมถึงงานส่งเสริมป้องกันโรค ความพึงพอใจของประชาชนอยู่ในระดับสูง และเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระรพ.จังหวัดซึ่งมีคนรอคอยรักษามาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตฉุกเฉิน การพัฒนารูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐ-ท้องถิ่น-เอกชน จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืนได้”