ไทยควรใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ในการแสดงศักยภาพประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุน และการสร้างรายได้ใหม่ให้ประเทศ มิใช่เพียงเป็นเจ้าภาพเท่านั้น

ข่าวสาร

การประชุม #APEC

ไทยควรใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ในการแสดงศักยภาพประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุน และการสร้างรายได้ใหม่ให้ประเทศ มิใช่เพียงเป็นเจ้าภาพเท่านั้น

ในบทความที่แล้วดิฉันได้เสนอ “3 ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022” คือ 1) รัฐบาลควรใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ แสดงตำแหน่งทางการแข่งขันของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจนให้ประชาคมโลกได้รับรู้ 2) การเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ของไทยในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่โลกกำลังตึงเครียด มีการเผชิญหน้ากันในหลายมิติ ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้วางตำแหน่งประเทศบนภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่นี้ให้ดี และ 3) รัฐบาลควรที่จะแสดง “จุดแข็ง” ของประเทศไทยที่มีมาโดยตลอดซึ่งก็คือ ความสงบของประเทศ อ่อนน้อมและความมีน้ำใจของคนไทย

ในบทความนี้ดิฉันมีประเด็นสำคัญ ที่อยากจะฝากให้รัฐบาลได้ใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ สร้างให้คนทั้งโลกเห็นศักยภาพของประเทศไทย เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศไทยอีกครั้ง เพราะในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทนเราลดต่ำลงไปในแทบจะทุกมิติ ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตได้ช้ากว่าประเทศในระดับเดียวกัน ประเทศและคนไทย โดยเฉพาะคนตัวเล็กมีรายได้ลดลง การจะปฏิรูปประเทศเพื่อให้หลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางเพื่อให้ประเทศกลับมาความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้คนไทยมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีความสุขนั้น ต้องเริ่มต้นที่ “การสร้างรายได้” ให้ประเทศของเราให้ได้เสียก่อน

ในการประชุมเอเปค 2022 นี้รัฐบาลจึงควรใช้เป็นโอกาสแสดงศักยภาพประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุน สร้างรายได้ ที่นอกเหนือจากเรื่อง BCG ที่ยกเป็นหัวข้อในการประชุม ดังนี้คือ

  1. การสร้างรายได้จากฐานเดิมที่ไทยมีความแข็งแกร่ง คือการสร้างรายได้จาก เกษตร-อาหาร การท่องเที่ยว และ การดูแลและรักษาสุขภาพ เป็นฐานที่ทำได้ง่ายที่สุดและเร็วที่สุด เพราะประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

• ไทย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ผลิตอาหารเลี้ยงดูคนไทยและประชาคมโลกมาโดยตลอด สร้างรายได้ให้ประเทศปีละมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

•ขณะที่การท่องเที่ยวนั้นประเทศไทยก็ติดหนึ่งในสิบอันดับของโลกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น ไทยเคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 2 ล้านล้านบาท ในขณะที่บริการทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก็เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ ในปี 2562 ไทยเคยมีรายได้จากฐานนี้สูงถึง 450,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้ที่สร้างได้เร็วที่สุด ง่ายที่สุด และกระจายไปถึงคนตัวเล็กในวงการท่องเที่ยวและคนตัวเล็กที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆของประเทศได้เร็วที่สุด รัฐบาลก็ควรที่จะขยายจุดแข็งของการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะปิดจุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทย ที่ต่างชาติกำลังจับตามองได้ แก่ เรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักท่อเที่ยว เรื่องสุขอนามัย และเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ทั้งสามเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขถ้าต้องการให้รายได้จากการท่องเที่ยวไทยเติบโตต่อไป โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมซึ่งต่างชาติมองว่าไทยเราสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวด้วยการถลุงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

รัฐบาลจึงควรที่จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อมวลชนโลกว่า ประเทศไทยได้มีมาตรการอะไรบ้างที่จะใช้แก้ไขปัญหาทั้งสามที่ดิฉันได้ยกมา นอกเหนือไปจากการส่งเสริมและเชิญชวนให้เขามาเที่ยวเมืองไทย

•อีกด้านก็คือ นั่นก็คือฐานรายได้จากการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และโลจิสติกส์ ของไทย เพราะเรามีทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงซึ่งมีช่องทางเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ ซึ่งประเทศจีนเองก็มุ่งหวังจะใช้เป็นช่องทางเชื่อมระหว่างจีนกับอาเซียนเช่นกัน

ในการประชุมคราวนี้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง จึงนับเป็นโอกาสดียิ่งที่จะทำให้ท่านเห็นความสำคัญของประเทศไทยในเรื่องทำเลที่ตั้งให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลทำให้จีนมองเห็นความสำคัญของไทยในด้านการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ได้แล้ว ดิฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์

  1. นอกจากฐานรายได้เก่าแล้ว ดิฉันอยากให้รัฐบาลสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบถึงศักยภาพของประเทศไทยในด้าน “ดิจิทัลอีโคโนมี” อีกด้วย เพราะจากนี้ไปดิจิทัลอีโคโนมีจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยจะต้องรีบสร้างโอกาส และเร่งสร้างความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจต่างๆของเอเปคให้สำเร็จในการสร้างดิจิทัลอีโคโนมีของไทยให้แข็งแรง เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และกลายเป็น “ฐานรายได้ใหม่” ที่สำคัญของไทยในอนาคต

เมื่อเราเอาจุดแข็งด้านดิจิทัลอีโคโนมีของไทย รวมเข้ากับจุดแข็งจากฐานรายได้เดิม เช่น ด้านอาหาร การท่องเที่ยวและบริการทางการแพทย์ ของไทยแล้ว ดิฉันคิดว่าประเทศไทยเราควรจะต้องเร่งสร้างโครงการ “Work From Thailand” โครงการที่จะส่งเสริมให้ชาวต่างชาติที่ไม่ว่าจะทำงานให้กับบริษัทไหนไหน ประเทศใด ก็สามารถมา “Work From Thailand” ได้อย่างสะดวกง่ายดายและมีความสุข ดิฉันมั่นใจว่าโครงการ “Work From Thailnd” จะสามารถเติบโตเป็น “ฐานรายได้ใหม่” ให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน

  1. ฐานรายได้ใหม่อีกหนึ่งฐานที่ดิฉันต้องการที่จะให้รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือ ฐานรายได้ที่เกิดจาก “ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป” สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สงครามรัสเซียยูเครน นำไปสู่สงครามเย็นยุคใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากัน การกีดกันการค้า การย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศต่างๆมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน รัฐบาลควรใช้โอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในครั้งนี้ สร้างตำแหน่งของประเทศไทยบนภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ ให้ชัดเจน เพราะทั้งสหรัฐ จีน รัสเซียและสหภาพยุโรป ต่างก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน รัฐบาลจึงควรจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจเหล่านี้เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทย และประเทศต่างๆ
  2. สุดท้ายที่สำคัญ ที่ดิฉันขอเสนอ คือ ในการประชุมครั้งนี้ประเทศ ไทยควรจะ หยิบยก และการผลักดันให้เกิด ความร่วมมือในการสร้าง ”เขตเศรษฐกิจพิเศษAPEC” ตามข้อเสนอของ ภาคเอกชน ที่ได้เสนอไว้แล้ว เพราะจะสามารถเพิ่มการค้า การลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก APEC ได้อย่างดี

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

18 พฤศจิกายน 2565

ร่วมแบ่งปันนโยบาย:

Facebook
Twitter

ข่าวสารน่าสนใจอื่น ๆ

ข่าวสาร
โฆษกไทยสร้างไทย ชี้ถ้ารัฐบาลเศรษฐายืนยันทำดิจิทัลวอลเล็ต ควรมีมติ...
ข่าวสาร
พรรคไทยสร้างไทย ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองบุญปีใหม่...
ข่าวสาร
"สุดารัตน์ สุรเกียรติ์" เห็นตรง ไทยกำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ 4 ด้า...
ข่าวสาร
โฆษกไทยสร้างไทย ชี้ถ้ารัฐบาลเศรษฐายืนยันทำ...
ข่าวสาร
พรรคไทยสร้างไทย ร่วมแสดงความยินดี เนื่องใน...
ข่าวสาร
"สุดารัตน์ สุรเกียรติ์" เห็นตรง ไทยกำลังเผ...
ข่าวสาร
"สุดารัตน์" คุยผู้ค้า ตลาดบุรีรัมย์ เสียงเ...
ติดตามทางโซเชียลมีเดีย