“ไทยสร้างไทย” ซัด กทม.รื้อป้ายเถื่อนแค่ปาหี่ แฉ “สำนักขนส่งฯ” สัญญาเอกชนให้ปักป้ายผิด กม.-มติ ครม.นับพันป้าย แลกค่าเช่าจิ๊บจ๊อย จากผลประโยชน์นับหมื่น ล. ชี้บ่อเกิดคอรัปชัน จี้รื้อทิ้งให้หมด
.
จากกรณีที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เริ่มดำเนินการตรวจสอบ และรื้อถอนป้ายโฆษณาที่ติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือป้ายโฆษณาเถื่อน หลังมีประชาชนโพสต์ร้องเรียนผ่านสังคมออนไลน์ว่า พบป้ายโฆษณาที่มีลักษณะกีดขวางทางเดิน และบดบังทัศนวิสัย พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนแจ้งเหตุหากพบการกระทำผิด และจะนําพิกัดป้ายโฆษณาในจุดต่างๆ ลงในแผนที่ใหญ่เป็น One Map เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการเก็บภาษีป้ายของ กทม. นั้น
.
นายนรุตม์ชัย บุนนาค พรรคไทยสร้างไทย ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ กทม. เข้ารื้อถอนป้ายโฆษณาบริเวณปากซอยราชปรารภ 14 ว่า ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. ชี้แจงว่า จะเร่งจัดการต่อการติดป้ายโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย แต่กลับมิได้มีการชี้แจงถึงการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องของ สจส.เอง ในการให้เอกชนเข้าทำสัญญาเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาตามจุดต่างๆ อาทิ เกาะกลางถนน, ศาลาที่พักผู้โดยสาร หรือป้อมตำรวจ ใน กทม.โดยผิดกฎหมาย และควรจะมีการรื้อถอนด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชัน ผ่านการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
.
นายนรุตม์ชัย กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2555 กทม. โดย สจส. อาจมีการหลีกเลี่ยงกฎหมายอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำสัญญาเพื่อติดป้ายโฆษณาในพื้นที่ต่างๆทั่ว กทม. ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจคิดว่า การติดป้ายเหล่านี้ถูกต้องตามกฎหมาย และบริษัทเอกชนสามารถดำเนินการได้ ตามสัญญาที่มีกับ กทม. แต่หากได้ดูข้อกฎหมายจะเห็นว่า ป้ายโฆษณาเหล่านี้ได้ถูกติดตั้งแบบผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีผลประโยชน์มหาศาลที่อาจเข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงทำให้มีการลักลอบติดตั้งป้ายโฆษณาเถื่อนเพิ่มขึ้น
.
นายนรุตม์ชัย กล่าวต่อว่า กทม.มีกฏหมายเพื่อควบคุมการติดตั้งป้ายโฆษณาหลัก 2 ฉบับ คือ ประกาศ กทม. ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ 2548 ในข้อ 4.2 ระบุว่า การติดตั้งป้ายโฆษณาในบริเวณหรือสถานที่ที่ กทม.ได้จัดไว้ให้ มิให้ติดตั้งในบริเวณเกาะกลางถนน หรือศาลาที่พักผู้โดยสาร และข้อ 4 ของข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้น สำหรับติดหรือตั้งป้ายในพื้นที่บางส่วน ในท้องที่ กทม. 2549 ระบุว่า ห้ามบุคคลใดก่อสร้างอาคารประเภทป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทุกชนิด
.
รวมทั้งยังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2562 เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ กิจการที่มีป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะเป็นจำนวนมาก ทำให้บ้านเมืองดูไม่สะอาด ขาดความปลอดภัย และขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อป้องกันมีให้มีการทุจริตเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะและการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกด้วย
.
“สิ่งที่เกิดขึ้น กทม. โดย สจส. กลับให้บริษัทเอกชนเข้าทำสัญญาเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาสาธารณะในที่ต่างๆตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ให้ติดตั้งป้ายโฆษณาบนเกาะกลางถนน, ป้อมตำรวจ และศาลาที่พักผู้โดยสาร โดยมักจะเป็นการทำสัญญาในระยะยาวเป็นเวลา 5-10 ปี และจัดเก็บค่าเช่าจากบริษัทเอกชนในจำนวนเงินราว 2 พันกว่าบาท ต่อป้าย/เดือน มีจำนวนประมาณ 1-2 พันป้าย ในขณะที่บริษัทเอกชนนำป้ายโฆษณาเหล่านี้ให้กับบุคคลหรือบริษัททั่วไปเช่า เก็บค่าเช่าเป็นจำนวนเงินหลักแสนบาทต่อป้าย/เดือน” นายนรุตม์ชัย ระบุ
.
นายนรุตม์ชัย กล่าวด้วยว่า จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า มีป้ายลักษณะนี้อยู่กว่า 1,000 ป้ายทั่วพื้นที่ กทม. โดย กทม.ได้รับค่าเช่าป้ายโฆษณา 2,540 บาทต่อป้าย/เดือน ขณะที่ เอกชน นำไปปล่อยเช่าในอัตราหลักแสนบาทต่อป้าย/เดือน เมื่อคำนวณระยะเวลา 10 ปี ในอัตราค่าเช่า 2 แสนบาท ต่อป้าย/เดือน จำนวนกว่า 1,000 ป้าย ระยะเวลา 120 เดือน (10 ปี) มูลค่าจะสูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท แต่ กทม.ได้รับค่าเช่าเพียง 356 ล้านบาท หรือราวปีละ 35.6 ล้านบาทเท่านั้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่พบว่า มีการติดตั้งป้ายเหล่านี้กลางถนน, กลางสี่แยก หรือศาลาที่พักผู้โดยสาร ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของประกาศ กทม.และข้อบัญญัติ กทม. รวมถึงมติ ครม. 8 ม.ค.2562
.
“จึงเป็นที่สงสัยว่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐ สจส. กทม. อาจกระทำผิดต่อกฎหมา
ยโดยเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน นับตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบัน มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลากหลายภาคส่วน และการกระทำดังกล่าวทำให้ กทม.และภาครัฐสูญเสียรายได้ เสื่อมเสียชื่อเสียง รวมไปถึงอาจมีการทุจริตคอรัปชันอีกด้วย” นายนรุตม์ชัย ระบุ
.
ทั้งนี้ พรรคไทยสร้างไทยจะยื่นเรื่องดังกล่าว ต่อ คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 10.30น. เพื่อให้ดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อไป