นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง ผู้ใช้แรงงานอีสานที่เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวงและพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งสูงถึง 2.7 ล้านคน โดยอยู่ในกรุงเทพฯกว่า 1.2 ล้านคน เป็นแรงงานในภาคการก่อสร้าง การบริการ และการผลิต ทั้งนี้มีรายงานว่าผู้ใช้แรงงางจำนวนไม่น้อยถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างเป็นประจำ ซึ่งตนมีข้อสังเกตฝากไปถึงคณะกรรมาธิการที่จะเข้ามาพิจารณาในเรื่องนี้ว่า
.
พนักงานรักษาความปลอดภัย จะถูกหักค่าฝึกอบรม โดยอ้างว่า การทำงานจะต้องมีการฝึกอบรมเพื่อไม่ให้ขัดต่อพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยโยนภาระค่าใช้จ่ายมาให้กับผู้ใช้แรงงาน จึงเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆในการจัดฝึกอบรม ต้องเป็นภาระของนายจ้าง เพราะท้ายที่สุดคนที่ได้ประโยชน์คือนายจ้าง และจะช่วยปิดช่องโหว่ไม่ให้พี่น้องแรงงานถูกกดที
.
สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานตนเห็นด้วย แต่ที่ผ่านมาการขึ้นค่าจ้างบางปียังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งได้ยินเสียงสะท้อน จากผู้ใช้แรงงานว่าของแพง ค่าแรงถูก จะมีถูกอยู่สิ่งเดียวคือค่าจ้าง ขณะเดียวกันในอนาคตภาวะขาดแคลนแรงงานก็มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ภาคธุรกิจค้าปลีก ค่าส่งธุรกิจการผลิต ซึ่งขาดแคลนแรงงานกว่า 62 เปอร์เซ็น ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาของไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ ประกอบกับสวัสดิการแรงงานที่ไม่มีความเหมาะสม
.
ทั้งนี้ขอเสนอแนะเพิ่มเติมให้ มีหลักการที่บัญญัติเพื่อคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุด้วย ซึ่งผู้สูงอายุไม่น้อยมีศักยภาพมีความรู้ความสามารถ ซึ่งจะเป็น ทรัพยากรมนุษย์ที่ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ และพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีความสมบูรณ์มากขึ้นทั้งยังเป็นการ หนุนเสริมให้ผู้สูงวัย มีโอกาสได้ทำงานตามศักยภาพ และประเทศไทยจะมั่นคงได้เพราะแรงงาน และกฎหมายที่ได้ร่วมกันออกแบบในวันนี้จะนำพาให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน มีความเป็นอยู่และสวัสดิการต่างๆดีขึ้น เมื่อสวัสดิการรายได้ต่างๆดีขึ้น ภาพการอพยพเข้ามาทำงานในเมืองหลวงก็จะไม่เกิดขึ้น และความเจริญจะกระจายตัวออกมาสู่ชนบทมากยิ่งขึ้น
.