นายรณกาจ ชินสำราญ รองเลขาธิการพรรค และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงภาพรวมหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยว่า พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องปัจจุบันขยับมาแตะระดับ 91.3% ของจีดีพี หรือประมาณ 16.3ล้านล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากที่เคยอยู่ในระดับ 76% เมื่อปี 2555 ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 80% ซึ่งเป็นระดับที่ประเมินแล้วว่า น่าจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยมากที่สุด
.
ทั้งนี้ 28% ของหนี้ครัวเรือนไทยที่ 16.3 ล้านล้านบาทเป็นการกู้ไปกินไปใช้หรือที่เรียกว่าบริโภค ซึ่งต้องนำรายได้ในอนาคตมาผ่อนจ่าย คำถามสำคัญคือหากรายได้เหล่านั้นไม่มาตามนัด ก็อาจกลายเป็นปัญหาหนี้สะสมเกินศักยภาพ
.
สิ่งที่น่ากังวลคือ ตัวเลขหนี้เสียที่ทะลักสูงถึง 1.09 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 15% โดยเป็นหนี้เสียบ้าน 2.41 แสนล้าน ซึ่งมีอัตราการเติบโตขึ้น 18% หนี้เสียรถยนต์ 2.4 แสนล้านมีอัตราการเติบโตขึ้น 32% หนี้เสียส่วนบุคคล 2.6 แสนล้านมีอัตราการเติบโตขึ้น12% และมีหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตอีก 14.6%
.
จากการตรวจสอบข้อมูล ยังพบได้ว่า ภาระหนี้ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย ค้างชำระตั้งแต่ 1 ถึง 3 เดือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนี้บ้าน1.8แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตของหนี้ คิดเป็น15% หนี้รถ 2.04 แสนล้านมีอัตราการเติบโตของหนี้ 7% หนี้บัตรเครดิต 1.17 หมื่นล้านมีอัตรการเติบโตของหนี้ 32.4%
.
รวมไปถึงรัฐต้องรีบลงมาดูเรื่อง การสนับสนุนให้ก่อหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ของภาคเอกชน ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ให้ผ่อนชำระได้หลายเดือน โดย ที่ไม่ต้องมีอะไรเป็นค้ำประกันหนี้ ทำให้อาจจะก่อหนี้เสียให้กับระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามมา
.
นอกจากนี้ยังพบว่าหนี้ในภาคธุรกิจ (OD) ลดลง -5.7% ซึ่งถือว่าอันตรายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะผลดังกล่าวสะท้อนถึง ปัญหาเงินหมุนเวียนในระบบธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอาจขาดสภาพคล่อง แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งเป็นการบ้านของรัฐบาลที่ต้องเร่งจัดการ
.
ขณะเดียวกันยังมีหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ของข้าราชการ ที่เป็นบุคลากรด้านการศึกษา มีมูลหนี้ก้อนใหญ่ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทบไปถึงมิติทางการศึกษา การสร้างทรัพยากรบุคคลได้
.
นายรณกาจ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ประกาศ GDP ไตรมาส 1 ออกมา แค่ 1.5% ซึ่งโตต่ำที่สุดในภูมิภาค ทำให้ล่าสุดจากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เศรษฐกิจไทย 2567 อาจขยายตัวเพียงแค่ 2.5% ซึ่งปรับลดลงจากที่เคยประมาณการที่ 2.7% นายรณกาจ ชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าว เป็นผลมาจากการส่งออกและภาคเกษตรที่เป็นกำลังหลัก หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์
.
ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนไทยได้ ทั้งยังปล่อยให้ค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ตามคำมั่นที่ได้ประกาศไว้ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หลายนโยบายที่ใช้เงินก็ไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะดิจิทัล วอลเลท ที่ต้องกู้ถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการใช้เงินมหาศาล ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้น แต่สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาระทางการคลังในระยะยาว
.
พรรคไทยสร้างไทย จึงย้ำเสมอว่าการเข้าถึงแหล่งทุนเป็นเรื่องสำคัญ และเสนอนโยบายเครดิตประชาชน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตั้งแต่ 10,000 บาทจนถึง 100,000 บาท นำไปเป็นทุนตั้งตัวตลอดชีวิต โดยรัฐจะให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ1ต่อเดือน ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้คนยากจนเข้าถึงแหล่งทุนและสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้อย่างมั่นคง โดยเป็นหลักคิดที่แตกต่างจากนโยบายแจกเงินดิจิทัล ของรัฐบาล