นายรณกาจ ชินสำราญ รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พยายามกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย และพูดถึงตัวเลขเงินเฟ้อต่ำหลุดกรอบมาเป็นปีแล้วว่า หากย้อนกลับไปดูหลายปีที่ผ่านมา ตัวเลขเงินเฟ้อไทย ไม่ใช่เงินเฟ้อที่แท้จริง เนื่องจากการมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐ เช่นตรึงราคาน้ำมันดีเซลหรือลดค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของค่าสินค้าและบริการ ทั้งๆที่รัฐก็รู้ดีอยู่ว่าค่าพลังงานเหล่านี้ ไม่สามารถตรึงไว้ได้ตลอด เพราะต้นทุนพลังงานอิงกับราคาตลาดโลก
.
ข้อดีคือช่วยให้ประชาชนประหยัดขึ้น แต่ผลกระทบอีกด้านคือ รัฐจะสูญเสียเงินจำนวนมากในการอุดหนุน เช่น กองทุนน้ำมันที่ติดลบ รวมกับ กฟผ. ที่เป็นหนี้ค่า FT รวมกันในระดับสูงถึง 200,000 กว่าล้านบาท ซึ่งสุดท้าย ก็จะกลายเป็นหนี้สาธารณะให้กับคนไทยทุกคน ดังนั้นถ้าเมื่อใดที่เลิกอุดหนุนค่าพลังงาน ตัวเลขเงินเฟ้อก็จะกลับมาอยู่ในกรอบ หรืออาจจะเกินกรอบที่วางไว้
.
ตนเห็นด้วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ให้ทุกคนเห็นตัวเลขจริงๆว่า ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น หมูเนื้องแดง ไข่ไก่ ผักสด ก๊าซหุงต้ม แพงขึ้นระดับสูงมาก นั่นคือภาระของประชาชนที่แท้จริง เพราะต้องกินต้องใช้กับสิ่งเหล่านี้ทุกวัน การไปกระตุ้นให้คนใช้จ่ายในขณะที่คนไม่มีเงิน และต้องการประหยัด จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ
.
ปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ใช่การพยายาม ลด-เพิ่มดอกเบี้ย แต่เป็นปัญหาที่โครงสร้าง อย่างเรื่องทุนผูกขาด, ความเหลื่อมล้ำ หรือคอร์รัปชัน สิ่งที่ควรทำคือ การเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยี และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มาก เพื่อไปสร้าง Productivity และพัฒนาฝีมือแรงงานต่อ สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่แท้จริง และดร.เผ่าภูมิ ควรไปผลักดันเรื่องพวกนี้มากกว่า
.
นายรณกาจ กล่าวด้วยว่า เรื่องเหล่านี้ ถ้าคนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์มา อย่าง ดร. เผ่าภูมิ จะเข้าใจดีอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานเลย แต่ตนเองก็แปลกใจว่า ที่ท่านออกมากดดัน ธปท. ให้ลดดอกเบี้ย รวมถึงพยายามผลักดันเงินดิจิทัล 10,000 บาทอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ทั้งๆที่คนคัดค้านทั่วประเทศ และเห็นผลเสียมากกว่าผลได้ “ท่านมีวัตถุประสงค์อะไรแอบแฝงหรือไม่” เรื่องวัตถุประสงค์แอบแฝงของท่านต่างหาก ที่น่าจะเป็น Red Flag สัญญาณอันตรายมากกว่า ใช่หรือไม่