นายนพดล มังกรชัย รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย มองว่าการนำเงินงบประมาณ 450,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการ เติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะก่อให้เกิดภาระทางการคลังมหาศาลในระยะยาว ทำให้หนี้สาธารณะคงค้างในอนาคตของไทยพุ่งเกินกรอบวินัยการเงินการคลัง หรือเกินกว่า 70% ของ GDP
.
ข้อมูลล่าสุด 31 มี.ค. 2567 ไทยมียอดหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท(หรือ 63.67% ของ GDP) หากมีการใช้เงิน 450,000 ล้านบาท เพื่อแจกในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตไป คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่67% ของ GDP เข้าใกล้เพดาน 70% แบบฉิวเฉียด เมื่อไปถึงจุดนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อวินัยทางการคลังของรัฐบาลที่ต้องตามชำระหนี้ในระยะยาว ส่งมอบมรดกให้ลูกหลานคนไทยต้องรับภาระหนี้ไปอีกนาน ทั้งยังส่งผลให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลงอย่างแน่นอน
.
หลายหน่วยงาน รวมถึง ธปท.เคยออกมาเตือนว่าการเดินหน้านโยบายเสี่ยงทำให้งบประมาณไม่เพียงพอในภาวะฉุกเฉิน การเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนหน้า ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน
.
นายนพดล ระบุด้วยว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 450,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริงไปมาก เพราะปัจจุบันมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงินมีค่าน้อยกว่า 1% ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวทวีคูณของการใช้จ่ายผ่านเงินเครดิตประชาชน และการแก้หนี้เติมทุนอย่างเป็นระบบ
.
รัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท โดย“ต้องกู้มาแจก” แม้ว่าขณะนี้จะลดวงเงินเหลือ 450,000 ล้านบาท เพราะใกล้ชนเพดานเงินกู้ แต่เงินที่จะกู้มาแจกนี้สูงถึง 450,000 ล้านบาท หรือเท่ากับ 2.5% ของ GDP โดยรัฐบาลบอกว่าจะสามารถ เพิ่ม GDP ได้ 1.2-1.8% และจะเป็นการโตเพียงช่วงสั้นๆ เพราะเป็นการแจกเงินที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ได้ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สุดท้ายอาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเงินกู้จำนวน 450,000 ล้านบาท จะเป็นภาระหนี้ให้กับประเทศและคนไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน
.
ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาทบทวนปัญหาที่แท้จริง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก SMEs จำนวนมาก เป็นหนี้ท่วมหัวและกำลังจะเข้าสู่ภาวะหนี้เสียและล้มละลายในที่สุด วิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่แค่วิกฤติเศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤติชีวิตของคนจำนวนมาก ปัญหาชีวิตเกิดกับคนรากหญ้า คนทำมาหากินระดับล่าง ผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กรายย่อย เศรษฐีหรือบริษัทใหญ่ๆ ไม่มีปัญหา ไม่ได้รับผลกระทบ
.
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญมาแก้ปัญหาให้คนตัวเล็กเหล่านั้น ทำให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ เข้ามาแก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้ ต่อชีวิตให้เขาเหล่านั้น ทำให้สามารถทำมาหากินต่อไปได้ เอาเงินมา แก้หนี้ – เติมทุน ปรับโครงสร้างหนี้ และมอบ เครดิตให้ประชาชน ปรับเปลี่ยนกระบวนการสินเชื่อให้ผ่อนคลาย ให้ประชาชนเข้าถึงได้ ช่วยคนจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงแค่สร้างภาพ
.