นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรค และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย ให้ความเห็นกรณีรัฐบาล “เลื่อน” การพิจารณารายงานการศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพฤหัสบดีที่ 3 ต.ค.67 ออกไปก่อนตามคำท้วงติงของหลายภาคส่วนรวมทั้งของพรรคไทยสร้างไทย นับเป็นการถอดชนวนความขัดแย้งจากความเห็นต่างทางการเมืองออกไปชั่วคราว
นายชวลิต ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คณะกรรมาธิการฯ ควรนำรายงานมาปรับปรุงใหม่โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่ต้องคดีการเมือง และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นับจากปี 2549 – ปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ซึ่งมีผู้ต้องคดีเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญพรรคการเมืองส่วนใหญ่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านล้วนเห็นชอบให้มีการนิรโทษกรรมผู้ต้องคดีดังกล่าว
ดังนั้น ก็ควรเร่งดำเนินการในส่วนที่มีความเห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ควรนำประเด็นความผิดตามมาตรา 112 มาเป็นอุปสรรคในกระบวนการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งจะทำให้การนิรโทษกรรมเสียไปทั้งกระบวนการ ความจริงแล้ว สภาฯ ชุดที่ผ่านมา เคยมีมติเมื่อ 19 ส.ค. 63 ให้ความเห็นชอบ “ให้มีการนิรโทษกรรมคดีการเมือง และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ยกเว้นไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 และคดีทุจริต
ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาคดีทุจริตต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” จากมติสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว มีข้อสังเกตก็คือ พรรคการเมืองที่เคยมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อ 19 ส.ค.63 ล้วนยังอยู่ในสภา ฯ ชุดนี้ทุกพรรคการเมือง ดังนั้น มติสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 19 ส.ค.63 จึงเท่ากับเป็นมติ “ปิดปาก” พรรคการเมืองที่เคยลงมติไว้ไปโดยปริยาย
หากคณะกรรมาธิการ ฯ นำประเด็นมติที่ “ปิดปาก” ดังกล่าวไปเป็นเหตุผลในการประชุมคณะกรรมาธิการ ฯ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายปัญหาได้ระดับหนึ่ง ส่วนคดีความผิดตามมาตรา 112 มีทางออกอื่นหากผู้กระทำสำนึกในการ
กระทำ
นายชวลิตฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้อง เทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ดังนั้นรัฐบาลจึงควรแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะให้มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดด้วยการไม่ปฏิบัติขัดกับรัฐธรรมนูญเสียเอง คือ การไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม คดีความผิดตามมาตรา 112 สามารถหาทางออกอื่นได้ หากผู้กระทำได้สำนึกในการกระทำนั้น ซึ่งในรายละเอียดพรรคไทยสร้างไทยเคยให้ความเห็นต่อสาธารณะไว้หลายครั้งแล้ว