สส.บิ๊ก ชัชวาล แพทยาไทย พรรคไทยสร้างไทยจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมเป็นวิทยากรเสวนาในงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี ในหัวข้อ “การพัฒนาระบบเกษตรก้าวหน้าและยั่งยืน” เป็นหัวข้อที่ถือได้ว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานให้ความสนใจ
.
ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ได้สะท้อนปัญหาพี่น้องเกษตรกรในสภาผู้แทนราษฎร ให้เห็นภาพปัญหาพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โดยได้สั่งสมประสบการณ์ เรียนรู้ และลงพื้นที่จริงคลุกคลีกับพี่น้องชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ จนตกผลึกว่า ปัญหาของเกษตรกรชาวนา มี 3 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาปัจจัยการผลิตที่ไม่พร้อม ชลประทานไม่ถึงไร่นา ดินไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง ปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ค่าแรงแพง และปัญหาสุดท้ายคือปัญหาการตลาดที่ไม่เป็นธรรมถูกกดราคาจากพ่อคนกลาง สิ่งเหล่านี้คอยฉุดรั้งการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยมาโดยตลอด “ชาวนาทำนาขาดทุนทุกปี”
.
ท้ายที่สุดปัญหาทุกประการที่ได้กล่าวไป รัฐบาลกลับเพิกเฉยและไม่จริงใจต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน จะเห็นได้ชัดเจนในช่วง สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยว แต่รัฐบาลกลับไม่นำมติที่ประชุม นบข. ในมาตรการพยุงและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปีเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่กลับนำเรื่องวันหยุดขึ้นมาพิจารณาก่อน ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนา ส่งผลให้ช่วงวันที่ผ่านมาราคาข้าวตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด
.
ความล่าช้าของรัฐบาล ส่งผลต่อความไม่แน่นอนในการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวนาที่ประสบปัญหามาโดยตลอด ในวาระการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตั้งกระทู้ถามสด ได้รับความชัดเจนแต่เพียงการรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในชั้นการประชุมของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ก็ได้พิจารณาไปแล้วคือ มาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร และมาตรการจำนำยุ้งฉาง
.
แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไม่มีคำตอบจนล่วงเลยมาถึงการเก็บเกี่ยวของพี่น้องชาวนา รัฐมนตรีฯ เพิ่งจะออกมาให้คำตอบว่า การจะเปลี่ยนโครงการปุ๋ยคนละครึ่งเป็นมาตรการไร่ละ 1,000 บาท ต้องมีการพิจารณาในขั้นของอนุกรรมการฯ เนื่องจากเคยมีการอนุมัติโครงการปุ๋ยคนละครึ่งไปแล้ว ความหวังของพี่น้องที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์มีเพียงแนวโน้มว่า“อาจจะ” สุดท้าย จึงมียังคงมีความหวังร่วมกับพี่น้องประชาชน และจะยังคอยติดตามอย่างใกล้ชิด
.