ดร.ธวัชชัย ปิยนนทยา ประธานคณะทำงานปราบปรามการทุจริตพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเหตุโศกนาฏกรรมบนถนนพระราม 2 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 ว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลลัพธ์จากความบกพร่องเชิงระบบที่สะสมมานาน โครงสร้างสะพานที่พังถล่มได้คร่าชีวิตและสร้างความบาดเจ็บแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เพียงแค่เดินทางบนเส้นทางหลวงสายสำคัญของประเทศ
.
ดร.ธวัชชัย ระบุว่าเมื่อย้อนมองข้อมูลสถิติในรอบ 7 ปี (2561-2567) พบว่าถนนพระราม 2 เป็นพื้นที่อันตรายที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 2,242 ครั้ง คร่าชีวิตประชาชน 132 ราย และบาดเจ็บอีก 1,305 ราย ปัญหาซ้ำซากทั้งแผ่นปูนถล่ม เครนพังทลาย รอยแตกร้าวบนสะพาน และพื้นถนนทรุดตัว ทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าเส้นทางนี้กำลังแปรเปลี่ยนจากถนนหลวงกลายเป็น “เส้นทางมรณะ”
.
ดร.ธวัชชัย ตั้งคำถามไปถึงผู้มีอำนาจว่าความล้มเหลวในการตรวจสอบและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุใดชีวิตประชาชนจึงต้องมาสังเวยให้กับความบกพร่องเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าดังนี้
.
1.การตรวจสอบที่หละหลวม ระบบการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของโครงสร้างทำงานล้มเหลว ขาดความเข้มงวดและความต่อเนื่อง
2.มาตรฐานความปลอดภัยที่หย่อนยาน การก่อสร้างและการบำรุงรักษาไม่ได้รับการยกระดับให้ทันสมัยและรัดกุมเพียงพอ
3.การบริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพ ขาดระบบกำกับดูแลโครงการก่อสร้างและซ่อมบำรุงที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
.
ในนามพรรคไทยสร้างไทย ขอส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้แสดงความรับผิดชอบและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้
.
1.จัดให้มีการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศโดยฉุกเฉิน โดยเฉพาะเส้นทางที่มีประวัติความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมครั้งต่อไป
2.เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบและรายละเอียดงบประมาณที่ใช้ในแต่ละโครงการอย่างครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนสามารถร่วมตรวจสอบได้
3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการลาออกโดยทันที ขณะเดียวกันขอให้กระทรวงคมนาคม เร่งนำเสนอแผนการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม
.
“ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ชีวิตคนต้องแลกกับความประมาทของหน่วยงานรัฐ” ดร.ธวัชชัย กล่าว
.
เหตุการณ์สะพานถล่มครั้งนี้ไม่ใช่เพียง “อุบัติเหตุ” แต่เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวเชิงระบบที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน คำเตือนนี้ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง หากรัฐบาลยังคงเพิกเฉย โศกนาฏกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก และครั้งต่อไปอาจร้ายแรงยิ่งกว่า ถึงเวลาแล้วที่ความปลอดภัยบนท้องถนนต้องเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเป็นเหยื่อของความบกพร่องเหล่านี้อีกต่อไป