ตามที่พรรคไทยสร้างไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงเหตุผลในการคัดค้านโครงการเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และการอนุญาตการพนันออนไลน์ถูกกฎหมายมาเป็นลำดับ คือ เมื่อ 15 มกราคม และ 17 มกราคม 2568 นั้น
.
จนถึงปัจจุบัน แม้ประชาชนหลายภาคส่วนได้แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาปากท้องและคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะคนตัวเล็กแต่อย่างใด หวังเพียงจะให้มีการจ้างงานประมาณ 20,000 คน เงินเดือนคนละประมาณ 20,000 บาท ทั้งที่การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปอย่างมีลับลมคมใน ไม่ผ่านหลักประชามติ ไม่สนใจเสียงคัดค้าน และไม่สนใจจะทำการศึกษาถึงผลกระทบให้รอบคอบแต่อย่างใด
.
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา สมาชิกพรรครัฐบาลได้เสนอญัตติขอเลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ขึ้นมาพิจารณาก่อน และมติสภาผู้แทนราษฎรโดยเสียงข้างมากได้ให้ความเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว ทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไปในวันพุธที่ 9 เมษายน 2568 จะมีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ….
.
เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบกับให้ประชาชนที่สนใจในนโยบายนี้ได้รับทราบ พรรคไทยสร้างไทยจึงขอสรุปถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยและไม่ควรรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ใน 4 ประเด็น คือ
.
- นโยบายโครงการเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ได้ซ่อนกาสิโนและการพนันออนไลน์ไว้ในโครงการอย่างแยบยล ที่สำคัญ ไม่ปรากฏนโยบายนี้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งไม่ได้รายงานต่อ กกต. ให้ได้รับทราบและตรวจสอบ ทั้ง ๆ ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในขณะนี้ อันส่อถึงความไม่สุจริตใจ ปิดบังไม่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งรับรู้นโยบายที่จะมีกาสิโนและการพนันออนไลน์ตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าว ยังเป็นไปตามการชี้นำของ นายทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกรัฐมนตรี ตามช่วงเวลาต่าง ๆ กล่าวคือ
.
22 สิงหาคม 2567 นายทักษิณ ชินวัตร ได้ไปออกรายการดินเนอร์ ทอล์ค ในหัวข้อ Vision for Thailand 2024 ซึ่ง 1 ใน 14 Vision มีโครงการเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ด้วย ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น ในระหว่างวันที่ 29 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม 2567 สื่อมวลชนรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อไปดูพื้นที่โครงการเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
.
12 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในข้อที่ 7 ระบุว่า รัฐบาลจะส่งเสริมโครงการเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งสอดรับกับ Vision ของนายทักษิณ ชินวัตร และการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
. - การดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
.
13 มกราคม 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งรัดนำร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่าง พ.ร.บ.ไปแก้ไขตามข้อสังเกตของที่ประชุม โดยให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 50 วัน นับแต่วันได้รับร่าง พ.ร.บ. แล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
.
27 มีนาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไขแล้ว ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วมีมติให้ความเห็นชอบ
.
มีข้อพิรุธน่าสังเกต คือ การแก้ไขหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ผิดไปจากเดิม คือ ร่าง พ.ร.บ. ฯ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ให้ความสำคัญกับ “การสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” แต่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ได้ตัดข้อความดังกล่าวออกไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความมุ่งมั่นและจริงใจที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นการเสนอโครงการแบบ “คิดไป ทำไป แก้ไป” ที่สำคัญย้อนแย้งกับภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเชิญไปเป็นประธานเปิดงาน Thailand Sustainable Tourism Conference 2025 หรือ TSTC 2025 ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
. - ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 24 – 26 มีนาคม 2568 พรรคฝ่ายค้านถึง 3 พรรค คือ พรรคประชาชน พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยสร้างไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายโครงการเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีสาระสรุปว่า ส่อทุจริตเชิงนโยบาย ฯลฯ แต่ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีไม่ให้ความสำคัญกับข้ออภิปรายและข้อวิตกต่างๆ โดยไม่ตอบประเด็นดังกล่าวเลย ยิ่งกว่านั้น หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 1 วัน คือ วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรีก็จัดประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฯ เข้าพิจารณาอย่างรีบเร่ง ลุกลี้ลุกลน เพื่อให้ทันการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้
. - มีภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมออกมาคัดค้านนโยบายซ่อนกาสิโนและการพนันออนไลน์ ไว้ในโครงการเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มากมายหลายองค์กร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาคส่วนสำคัญในสังคมที่มีความห่วงใย ผลกระทบที่ประชาชนคนไทยจะได้รับ เช่น องค์กรทางศาสนา มีพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิคแห่งประเทศไทย อดีต สว. 191 คน และอดีตประธาน สว. 3 คน ผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม 100 องค์กร นักวิชาการ 99 คน องค์กรนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย สหพันธ์รัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กลุ่มเกษตรกร ตลอดจนประชาชนหลากหลายอาชีพ ซึ่งมีการชุมนุมคัดค้านในกรุงเทพมหานคร และเริ่มชุมนุมคัดค้านที่ต่างจังหวัดแล้ว คือ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
.
สำหรับในส่วนของผู้นำระดับประเทศ ก็ปรากฏข่าวต่อสื่อมวลชน ที่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เตือนและแนะนำนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างเยือนจีน ระหว่างวันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏในข่าวของสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ถ้ารัฐบาลไม่รับฟัง และผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ผ่านสภาฯ ให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย หากรัฐบาลจีนจำกัดนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ แค่การขึ้นภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ส่งผลให้ GDP หายไปราว 1% แล้ว
.
ล่าสุด องค์กรสำคัญที่ถือได้ว่า “เป็นกลาง” อย่างยิ่ง ในทางการเมือง คือ “ราชบัณฑิตยสภา” โดยในการประชุมราชบัณฑิตยสภาและภาคีสมาชิก ได้ประชุมเมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน 2568 เพื่อพิจารณารายงานการประเมินและพัฒนานโยบายสาธารณะกรณีร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. จัดทำโดยศาสตราจารย์ ดร.วรเดช จันทศร ราชบัณฑิต เพื่อเสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบต่อรายงานดังกล่าวโดย “ให้ยุติการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ต่อสภาฯ” เพราะจะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงหลายอย่างตามมา ความเป็นประเทศและเมืองแห่งพระพุทธศาสนาก็จะมัวหมอง …….ฯลฯ
.
พรรคไทยสร้างไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประมวลความเห็นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฯ โดยแยกออกเป็น 4 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภา ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันคัดค้านนโยบายดังกล่าวต่อไป
.
พรรคไทยสร้างไทย
8 เมษายน 2568


