
บทความพิเศษ : รัฐประหาร อุปสรรคการพัฒนาประชาธิปไตยไทย
บทความพิเศษ : รัฐประหาร อุปสรรคการพัฒนาประชาธิปไตยไทย
19 ก.ย. 2564 ครบรอบ 15 ปี การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นการรัฐประหารที่ยึดอำนาจได้สำเร็จ เป็นครั้งที่ 13 นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เมื่อ 2475
ถึงวันนี้ ประเทศไทยเรามีการรัฐประหารมาแล้ว 25 ครั้ง ผู้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จ 14 ครั้ง กระทำการไม่สำเร็จกลายเป็นกบฏ 11 ครั้ง
การรัฐประหารครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ 22 พ.ค.2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นการรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จเป็นครั้งที่ 14 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
การรัฐประหารที่กระทำการสำเร็จ สิ่งที่คณะรัฐประหารแทบทุกคณะต้องกระทำคือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ ประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับ
ประเทศไทยจึงนับเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลก ถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นฉบับที่ 20 แล้ว
การรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 ได้ทำลายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำ โดยผ่านกระบวนการจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ( สสร.) ที่มาจากประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างองค์กรทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง สร้างกลไกการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ
ส่วนรัฐธรรมนูญที่เกิดจากรากเง้าของการรัฐประหาร จะถูกออกแบบ วางโครงสร้างที่เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายยึดอำนาจ จึงขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากล เอื้อประโยชน์ต่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และวางกับดักหลุมพรางไว้มากมาย จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติและประชาธิปไตย
ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การบัญญัติให้มีสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งของฝ่ายยึดอำนาจ จำนวน 250 คน และให้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากลอย่างชัดเจน หรือ การวางกับดักหลุมพราง ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ว่า “คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่”
บทบัญญัติในส่วนที่ว่า “ ต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย “ เป็นการวางกับดักหลุมพรางไว้เล่นงานรัฐบาลที่มาจากประชาชน ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหรือตัวช่วยอื่น สุ่มเสี่ยงที่จะถูกร้องว่ากระทำผิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะในทางปฎิบัติคงเป็นไปได้ยากที่จะบอกว่าทุกนโยบายจะนำรายได้จากไหนมาใช้จ่าย เพราะงบประมาณที่รัฐนำมาใช้จ่ายก็มีที่มาจากภาษีอากรทุกประเภท และอาจมาจากเงินกู้ ซึ่งยากที่จะบอกได้ชัดเจนว่าจะมาจากไหน เท่าไหร่
ถ้ารัฐบาลจะป้องกันตัวเองไม่ให้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ในทางปฎิบัติ รัฐบาลที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ก็แทบจะมีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาประเทศให้เกิดผลดีไม่ได้เลย
เหล่านี้คือผลพวงของการรัฐประหาร ที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ตลอดจนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมืองเรา ในช่วงเวลา 89 ปี ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
เมื่อไหร่รัฐประหารจะหมดไปจากแผ่นดินไทยเสียทีครับ?
สามารถ แก้วมีชัย
อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย จังหวัดเชียงราย
19 กันยายน 2564