ไทยสร้างไทย ชี้ รัฐขอกู้ ธกส.แจกเงินดิจิทัล 10,000บาท ส่อผิดวัตถุประสงค์ ระบุ หนี้จำนำข้าวยังจ่ายไม่ครบ แต่มาแจก 10,000บาทเพิ่ม อาจดึงสถาบันการเงิน ของพี่น้องเกษตรกร เข้าสู่ภาวะความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง กระทบต่อรายได้และเงินกองทุนของธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ข่าวสาร

ดร.ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะอดีตนักวิชาการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และได้ติดตามงานด้านเศรษฐกิจการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสนใจ กล่าวถึง กรณีที่รัฐบาล ประกาศว่าแหล่งที่มาของเงิน จำนวนหนึ่ง จะมาจาการกู้ยืม ธ.ก.ส. เพื่อนำไปใช้ในโครงการประชานิยม “แจกเงิน” ให้กับประชาชนที่อยู่ในข่ายที่เป็นเกษตรกรซึ่งขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส. จำนวน 172,300 ล้านบาท
.
ตนขอตั้งข้อสงสัยว่า อาจเกิดอันตรายขึ้นกับสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจที่เป็นที่พึ่งของเกษตรกร และประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยเฉพาะการนำเงินจำนวนมากมาใช้ในโครงการนี้ จะทำได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงที่แต่ละฝ่ายได้นำมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ. ธ.ก.ส. มาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งต่อมาความใน (3) ของมาตรา 9 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 6) พ.ศ 2549 และใช้บังคับมาตั้งแต่ 15 มีนาคม 2549
.
โดยฝ่ายรัฐบาลเห็นว่ามาตรานี้เปิดช่องให้สามารถกระทำได้ ตนจึงขอนำเสนอรายละเอียดของมาตรา 9 ให้ทุกท่านได้พิจารณา เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงเจตนารมณ์ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคาร ดังนี้ มาตรา 9 กำหนดว่า ธนาคารมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
.
(1) ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือ สหกรณ์การเกษตร สำหรับการ
.
(ก) ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม
(ข) ประกอบอาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้
(ค) พัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม หรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร หรือครอบครัวของเกษตรกร
(ง) ดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
.
(2) ประกอบธุรกิจอื่นอันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม
.
(3) ดำเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
.
การที่รัฐบาลบอกว่า (3) คำว่า “เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี่แหละ เข้าข่ายตามเงื่อนไขวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ. ธ.ก.ส. เพราะฝ่ายกฎหมาย ของกระทรวงการคลังยืนยันมาแล้วว่าทำได้ ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน เพราะเมื่อเรื่องนี้ถูกนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี หน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ ก็ต้องเสนอความเห็นมาประกอบอยู่ดี ซึ่งหากถามความเห็นไป จะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ เพราะพี่น้องประชาชนรอคอย เมื่อฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการคลังยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าทำได้ ไม่ผิด พ.ร.บ. ธ.ก.ส. เราก็ต้องเชื่อตามนั้น”
.
แต่ตนกลับมองว่าว่าเป็นการให้เหตุผลแบบเอาสีข้างเข้าถู ดูเหมือนเป็นการด้อยค่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจกลัวว่าเมื่อถามไปแล้ว ก็จะได้ความเห็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา
.
หากพิจารณาให้ดีๆ จะเห็นว่า ข้อความที่ระบุว่า เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามที่ปรากฏอยู่ใน (3) ซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างนั้น ความจริงมันมีปฐมเหตุมาจากการที่เกษตรกรสามารถดำเนินกิจกรรมทางการผลิตและการตลาด ประกอบอาชีพได้ตามหน้าที่ เพราะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทางธนาคารในรูปแบบของการให้สินเชื่อ/การให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการพัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม การประกอบอาชีพ ตามที่ระบุอยู่ใน (1) ซึ่งต้องมีต้นทุนในการดำเนินงานทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นการเอาเงินไปไล่ “แจก” แล้วจะทำให้เกษตรกรมีเศรษฐกิจที่ดี เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อย่างที่รัฐบาลอยากจะให้ ธ.ก.ส.ทำ
.
จริงอยู่ที่ไม่จำเป็นต้องฟังความเห็นจากกฤษฎีกาก็ได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำลงไป แต่ตนว่ามันไม่คุ้ม ถ้าปล่อยให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติก่อน แล้วท่านถูกลงโทษ
.
โดยความเป็นจริง ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้การสนับสนุน ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้เกิดการผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้ปัจจัยการผลิตที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด ควบคู่กับการให้ความรู้ทางวิชาการ และการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ภายใต้การดำเนิน งานของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเงินทุนก็ถือเป็นปัจจัยการผลิตหนึ่งที่มีความสำคัญ
.
แต่การที่รัฐบาลจะใช้ช่องทางของ ธ.ก.ส. เป็นตัวผ่านเงิน”แจก” ไปสู่ประชาชน โดยให้ธนาคารหาเงินมาจ่ายไปก่อน หรือกู้ยืมเงินจาก สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคาร แล้วรัฐบาลจะนำมาชำระคืนให้ในภายหลังโดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนนั้น เป็นการกระทำที่อาจทำให้ ธ.ก.ส. เข้าสู่ภาวะของความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ( Liquidity Risk ) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินกองทุนของธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการใช้เงินทุนมีปริมาณสูงกว่าสภาพคล่องที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจทำให้ธนาคารต้องถูกควบคุมหรือหยุดกิจการได้
.
ตนเห็นว่า ปีบัญชี 2566 สภาพคล่อง ธ.ก.ส. ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพียงพอรองรับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ซึ่ง การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคารนั้น สอดคล้อง กับหลักเกณฑ์ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน รวม 287,241 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ร้อยละ 15.70 เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ขั้นต่ำร้อยละ 8.50
.
แต่หากจะต้องมาแบกรับภาระเงินก้อนโตนี้อีก ในขณะที่หนี้เก่าจากโครงการรับจำนำข้าวที่ยังคงค้าง อยู่อีกกว่า 230,000 ล้าน หรือพิจารณาจากลูกหนี้รอการชดเชย จากรัฐบาล จำนวน 594,207 ล้านบาท ก็จะเป็นปัญหาสะสม ที่เป็น อุปสรรคขัดขวางต่อการมุ่งสู่การเป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบทและภาคเกษตรครบวงจร ในทศวรรษที่ 6 ตามที่ธนาคารได้ตั้งความมุ่งหวังไว้
.
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า แม้ ธ.ก.ส. จะเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาล สามารถใช้กลไกภายใต้ พ.ร.บ. การเงินการคลัง มาตรา 28 เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. ธ.ก.ส. มาตรา 9 (3) มาเป็นข้ออ้างความชอบธรรมตามกฎหมาย ที่เห็นว่าเปิดช่องให้ กระทำได้นั้น คำถามที่ต้องหาคำตอบก็คือ ทำได้จริงหรือไม่ และการ นำเงินสภาพคล่องส่วนเกินจาก ธ.ก.ส. เพื่อใช้จ่ายในโครงการนี้ จะถือว่าเป็นการกู้เงินหรือไม่ เพราะในช่วงของการหาเสียง ผู้มีอำนาจได้พูดอย่างชัดเจนว่า โครงการ แจกเงินดิจิทัล10,000 บาทนี้ ทำได้ทันที และไม่มีความจำเป็นต้องกู้ แต่นี่ก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ประชุมมาก็หลายครั้ง ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดใดๆเลย
.
ตนจึงเห็นด้วยกับแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานฯ ธ.ก.ส. ที่เห็นควรให้ สนง.กฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ พิจารณาให้ความเห็นอย่างชัดเจนเสียก่อน ว่า ธ.ก.ส.จะสามารถดำเนินโครงการ Digital Wallet ให้กับรัฐบาลได้หรือไม่
.
ดังนั้น ตนขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยได้ให้ข้อสังเกตร่วมกันว่า ประเทศชาติของเรากำลังประสบกับปัญหา/ความเสื่อมถอยในหลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของที่ดิน สปก. ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามให้นายทุนเข้ามาครอบครอง ถือกรรมสิทธิ์ หาผลประโยชน์ แทนที่จะนำไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์อย่างครบถ้วนตามเจตนารมณ์
.
ธ.ก.ส. ก็เช่นเดียวกัน หากถูกใช้เป็นเครื่องมือที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน กลุ่มทุน นักการเมือง เป็นการเฉพาะแล้ว ประโยชน์อันแท้จริงที่พี่น้องเกษตรกรพึงจะได้รับก็จะต้องสูญเสียไป ทำไมการประชุมเรื่องเงิน Digital Wallet ในแต่ละครั้ง ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเลย ซึ่งก็เข้าใจได้ครับว่า “เงินบาท” เป็นสกุลเงินเดียวที่สำคัญของชาติ คงไม่บังอาจที่จะสนับสนุนสกุลเงินอื่นให้เข้ามามีบทบาทใช้คู่ขนานกัน
.
ถึงวันที่เราจะต้องผนึกกำลัง ร่วมมือกันเพื่อให้ชาติบ้านเมืองของเราหลุดพ้นออกจากวงจร การทุจริตคอรัปชั่น การทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งถือว่าเป็นมะเร็งร้ายของสังคม เพื่อให้ประเทศของเรามีความเจริญรุ่งเรือง พี่น้องคนไทยได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ร่วมแบ่งปันนโยบาย:

Facebook
Twitter

ข่าวสารน่าสนใจอื่น ๆ

ข่าวสาร
"วรวุฒิ ไทยสร้างไทย" จี้รัฐฯทบทวน โครงการแจกเงินหมื่น ชี้ ไม่ตอบโ...
ข่าวสาร
โฆษกไทยสร้างไทย ไม่เชื่อ ครม.เศรษฐา1/1 จะดีกว่าเดิม เสียดาย "ปานป...
ข่าวสาร
โฆษกไทยสร้างไทย ชี้ถ้ารัฐบาลเศรษฐายืนยันทำดิจิทัลวอลเล็ต ควรมีมติ...
ข่าวสาร
"วรวุฒิ ไทยสร้างไทย" จี้รัฐฯทบทวน โครงการแ...
ข่าวสาร
โฆษกไทยสร้างไทย ไม่เชื่อ ครม.เศรษฐา1/1 จะด...
ข่าวสาร
โฆษกไทยสร้างไทย ชี้ถ้ารัฐบาลเศรษฐายืนยันทำ...
ข่าวสาร
พรรคไทยสร้างไทย ร่วมแสดงความยินดี เนื่องใน...
ติดตามทางโซเชียลมีเดีย