นายศรัณยู อึ๊งภากรณ์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงการ
แถลงผลงานรัฐบาล โดยแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาว่ามีประเด็นที่น่าสนใจและเกิดคำถามเป็นวงกว้างในสังคม หลังจากที่หัวหน้าพรรคดังกล่าวได้แสดงทัศนะคติถึง “ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ
.
ทั้งนี้หากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมให้ความร่วมมือ จะไม่สามารถลดเพดานหนี้ได้เลย” นั้น ทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย ได้แสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยต่อทัศนคติอันแปลกประหลาดโดยได้ออกมาต่อว่าถึงบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
.
หากย้อนกลับไปพิจารณา ตามพันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยจะพบว่ามีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพด้านราคา การป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจมีความผันผวนมากเกินไป พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งกับเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ เพราะในบางกรณี รัฐบาลอาจมีเป้าหมายที่ต้องการเห็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที ซึ่งอาจขัดแย้งกับเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพของธนาคารกลางได้ เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ขยายตัวมากเกินไปนั้น อาจมีผลดีต่อการแก้ไขปัญหาการว่างงานและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่อาจล้มเหลวต่อการสภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวเนื่องจากอาจสร้างสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
.
แม้แต่ในด้านการพิมพ์ธนบัตรซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่สามารถพิมพ์ธนบัตร ได้ซึ่งสวนทางกับรัฐบาลที่มีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงิน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระเพื่อให้สามารถรักษาความมั่นคงของการเงินและไม่เป็นปัจจัยที่กีดกันในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
ไม่เพียงเท่านั้น ความเป็นอิสระของธนาคารกลางยังมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนต่างชาติด้วยอันเห็นตัวอย่างได้จากประเทศตุรกีที่มีการแทรกแซงเชิงนโยบายการเงินของธนาคารกลางโดยรัฐบาลตุรกี ที่เน้นนโยบายการเงินที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งท้ายที่สุด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นถึง 60% และทำให้มูลค่าของเงินลดต่ำลงอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมากขนเงินออกนอกประเทศ
.
ดังนั้น พรรคไทยสร้างไทย ขออ้างอิงจากผลการวิจัยขององค์กรนานาชาติอย่าง IMF ที่แสดงผลเชิงประจักษ์ในการใช้กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 50 ประเทศจากทุก ๆ กลุ่มเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2564 ซึ่งพบว่าความอิสระของธนาคารกลางมีผลกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีผลต่อการเสถียรภาพทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินมีผลต่อการเติบโตของประเทศในทุกมิติอย่างต่อเนื่องระยะยาว
.
ดังนั้น คำถามสำคัญที่ควรกลับไปถามตัวเองคือ ทุกวันนี้ ท่านได้ฟังเสียงแจ้งเตือนขององค์กรอิสระหรือไม่ พร้อมทั้งหาวิธีประสานงานให้เกิดความราบรื่นต่อการบริหารประเทศมากกว่าที่จะทำการตัดพ้อต่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอุปสรรคการดำเนินนโยบายของตนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ การแก้ไขปัญหาระยะยาวไม่ควรจบลงที่การจะเข้าไปก้าวก่ายองค์กรอิสระแต่ควรเป็นการหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตในปัจจุบัน